วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผลวิจัยเด็กมุสลิมใต้


ผลวิจัยเด็กมุสลิมใต้ "เรียนหนักแต่ล้มเหลว" แนะบูรณาการ "ศาสนา-สามัญ"

UploadImage

เปิดผลวิจัย "อิสลามศึกษา" พบเด็กมุสลิมชายแดนใต้ล้มเหลวทั้งวิชาการและศาสนา เหตุหลักสูตรไม่บูรณาการ ผู้ปกครองตั้งความหวังสูง อยากให้ลูกเป็นโต๊ะครูควบคู่กับอาชีพการงานดี ทำให้เรียนหนักจนล้า ขณะที่เด็กมาเลย์เรียนเบากว่าแต่กลับประสบความสำเร็จ

          เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สภาการศึกษาแห่งชาติ มีการสัมมนารายงานผลการวิจัยเรื่อง "บูรณาการอิสลามศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานของโรงเรียนรัฐบาลในประเทศมาเลเซียเปรียบเทียบกับประเทศไทย" จัดโดยสภาการศึกษาแห่งชาติ

          นายมูหามัดรูหนี บากา ผู้ชำนาญการอิสลามศึกษา สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการศึกษาที่ 12 หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า เด็กไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเรียนหนักมาก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันโรงเรียนในพื้นที่สอนอิลลามศึกษาควบคู่กับการเรียนวิชาสายสามัญ รวมๆ แล้วเด็กต้องเรียนทั้งหมด 16 วิชา เป็นวิชาสามัญ 8 กลุ่มสาระวิชา และวิชาศาสนา 8 รายวิชา ทั้ง 16 วิชานี้ยังแตกเป็นรายวิชาย่อยมากมาย เด็กจึงต้องใช้เวลาเรียนเยอะมาก แต่ผลการประเมินระดับชาติที่สะท้อนออกมากลับล้มเหลวทั้ง 2 ด้าน

          กล่าวคือคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอ-เน็ต ของเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในอันดับรั้งท้ายของประเทศ ส่วนคะแนนผลการทดสอบมาตรฐานอิลสามศึกษา หรือ ไอ-เน็ต คะแนนเฉลี่ยของทุกวิชาไม่ผ่านครึ่ง ยกเว้นวิชาเดียวคือวิชาจริยธรรมที่ได้คะแนนเกินครึ่ง

          นายมูหามัดรูหนี กล่าวต่อว่า สำหรับโรงเรียนรัฐบาลในประเทศมาเลเซียนั้น แยกวิชาสามัญและวิชาศาสนาเหมือนกับไทย แต่มีการบูรณาการเนื้อหาวิชาศาสนาเข้าด้วยกันให้เหลือแค่วิชาศาสนาอิสลาม 1 รายวิชา แล้วไปแยกแยะเนื้อหาในกระบวนการเรียนการสอน เสริมด้วยวิชาภาษาอาหรับและภาษามลายูอีก 2 รายวิชา เด็กมาเลเซียจึงไม่ต้องเรียนหนักเหมือนเด็กมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่การเรียนศาสนาในมาเลเซียจะเน้นการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ให้เด็กสามารถประพฤติ ปฏิบัติตามหลักศาสนาได้อย่างถูกต้อง เด็กจึงค่อนข้างประสบความสำเร็จกับการเรียนอิสลามศึกษา

          "สาเหตุที่ทำให้เด็กในสามจังหวัดภาคใต้ต้องเรียนหนัก เพราะความต้องการของพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นโต๊ะครู ขณะเดียวกันก็อยากให้เป็นแพทย์ไปด้วย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เด็กทุกคนเก่ง 2 ด้าน แต่ผลก็คือลูกตัวเองต้องเรียนหนัก รวมๆ แล้วต้องเรียนถึงวันละ 9 ชั่วโมง ขณะที่มาเลเซียเขาเรียนศาสนาแต่วันละ 3 ชั่วโมง ส่วนเด็กไทยตกกลางคืนต้องไปเรียนอัลกุรอานเพิ่ม เสาร์-อาทิตย์ยังต้องไปเรียนศาสนาที่ตาดีกา สุดท้ายเรียนไม่ผ่านเพราะเรียนหนักจนล้า"

          "ขณะที่เด็กมาเลเซียนั้นจะเรียนศาสนาจบในระดับมัธยมต้น หลังจากนั้นถ้าใครต้องการไปเป็นผู้รู้ ไปเป็นโต๊ะครู จึงจะเลือกเรียนศาสนาเพิ่มเติมในระดับมัธยมปลาย ส่วนเด็กอื่นๆ ก็จะเรียนเน้นหนักในสายที่ตัวเองต้องการศึกษาต่อ" นายมูหามัดรูหนี กล่าว

แนะบูรณาการเนื้อหา"ศาสนา-สามัญ"

          ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า ทิศทางการจัดการศึกษาของโลกมุสลิมนั้นเน้นการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ ให้ศึกษาความรู้ทั้งทางวิชาการโดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และศาสนา เพื่อให้สามารถทำประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้ แต่เป้าหมายการเรียนอิสลามศึกษาในไทยนั้นเพื่อความศรัทธาต่อพระเจ้า เพราะฉะนั้นการเรียนศาสนาในไทยจึงไม่เหมือนที่อื่น

          นอกจากนั้น ยังไม่มีการเรียนแบบบูรณาการด้วย ดังนั้นจึงควรปรับปรุงในระดับเนื้อหา เช่น ทำอย่างไรจะให้วิชาคณิตศาสตร์สอดแทรกการเรียนรู้หลักศาสนาเข้าไปด้วย และวิชาที่คล้ายๆ กันก็ควรรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ต้องเรียนหนัก และประสบความสำเร็จกับการเรียนได้

--------------------------------------------------
ข่าว : สำนักข่าวอิศรา
บรรยายภาพ : 1 ห้องเรียนตาดีกาที่ชายแดนใต้ (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา ถ่ายโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ พรางภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น